ประวัติตำบลบางปลา
ตำบลบางปลาเป็น 1 ใน 6 ตำบล ของอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีเนื้อที่ประมาณ 53.376 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 33,360 ไร่ประกอบด้วย15 หมู่บ้าน เดิมตำบลบางปลาหรือที่เรียกกันว่าเกาะบางปลานั้น ประกอบไปด้วยบางส่วนของหมู่ที่ 1 ถึงหมู่ที่ 6 เป็นพื้นที่ดั้งเดิมที่มีการย้ายถิ่นฐานจากในเมืองหลวง (พระนคร) เมื่อครั้งที่มีการสร้างเมืองสมุทรปราการ เมื่อประ มาณร้อยกว่าปีที่ล่วงมา ข้อมูลจากผู้เฒ่าผู้แก่และจากการเอกสารอ้างอิงพบว่า ชุมชนเกาะบางปลาเดิมนั้นเป็นชุมชนเล็กๆ อยู่ริมทะเล ที่มีมานานแล้ว ตั้งบ้านเรือนอยู่กันเป็นกลุ่มประมาณ 50 หลังคาเรือน เป็นพื้นที่ดอน มีลำคลองเล็กๆคดเคี้ยวผ่านกลางชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมสองฝั่งคลอง พื้นที่อยู่ระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม มีน้ำขึ้นน้ำลง ทางทิศใต้ของเกาะบางปลา เดิมเป็นป่าชายเลนเต็มไป ด้วยต้นโกงกาง ต้นแสม พืชน้ำเค็มและมีสัตว์อาศัยอยู่หลายชนิดได้แก่ ลิงแสม เสือปลา สัตว์เลื้อยคลานและงูหลายชนิด ในน้ำ จะมีสัตว์ทะเลอาศัยอยู่อย่างชุกชุมได้แก่ กุ้ง หอย ปู ปลา รวมทั้งปลาน้ำจืดหลายชนิดที่มีชุกชุมมาก เล่ากันว่าในฤดูน้ำลดจะมีชาวลาว จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดินทางมากันเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อจับปลาทำเค็มตากแห้งและทำปลาร้า สะสมไว้ เมื่อได้พอต้องการ แล้วก็ จะนำกลับไปบ้านโดยมากันเป็นประจำทุกปี เนื่องจากความชุกชุมของปลา ด้านทิศเหนือของชุมชนพื้นที่เป็นทุ่งหญ้า จรดริมคลองสำโรง เป็นที่ตั้งชุมชนผู้นับถือศาสนาอิสลามที่ย้ายถิ่นฐานมาจากพระนครและเมืองมีน ซึ่งปัจจุบันคือมีนบุรี
ด้านอาชีพเดิมคนในชุมชนมีอาชีพตัดไม้โกงกาง ไม้แสม นำมาทำฟืนโดยตัดเป็นท่อนบรรทุกเรือล่องขึ้นไปขายในพระนครเมืองมีนและสวนบน ซึ่งปัจจุบันคือ คลองบางกอกน้อย ซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิมโดยจะซื้อ ข้าวสาร อาหารแห้ง ผัก ผลไม้ ของกินของ ใช้อื่น ๆ กลับมาบ้าน เนื่องจากพื้นดินเป็นดินเค็มไม่สามารถทำการเพาะปลูกพืชประเภทข้าว ผัก และผลไม้ได้ คนในชุมชนนับถือ ศาสนาพุทธตามบรรพบุรุษเดิม เมื่อย้ายมายังไม่มีวัดเพื่อประกอบศาสนกิจ ตามประวัติของวัดบางปลามี พระธุดงค์คาดว่าเดินทาง มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นเดียว กับกลุ่มชาวลาวที่เดินทางมาจับปลาตามฤดูกาล ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้อยู่ และได้ช่วยกัน สร้างวัดขึ้นทางด้านทิศตะวันออกของชุมชน ชาวบ้านเรียกพระรูปนี้ว่าหลวงพ่อลาวตามที่เข้าใจ ว่ามาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยนิมนต์ให้เป็นเจ้าอาวาส และเรียกชื่อวัดตามชื่อ ที่เรียกพระรูปดังกล่าวว่าวัดบางลาว คนทั่วไปจึงเรียกชุมชนนี้ว่าบางลาวตั้งแต่นั้นมา
สำหรับทางตอนเหนือของตำบลด้านริมคลองสำโรงก็จะมีชุมชนชาวอิสลามย้ายมาจากพระนคร เมืองมีนซึ่งปัจจุบันคือมีนบุรี มาตั้งถิ่นฐานบริเวณ ระหว่างปากคลองบางเรือนถึงปากคลองลัด เรียกว่า สุเหร่าบางลาว และแหล่งชุมชนปากคลองบางกะสี เรียกว่า สุเหร่าบางกะสี เดิมสภาพพื้นที่ในฤดูน้ำหลากในเดือน 11 และเดือน 12 น้ำจะท่วมเหลืออยู่เฉพาะเกาะบางลาว ซึ่งเป็นที่ดอนเท่านั้น ต่อมามีการก่อสร้างถนนสุขุมวิทขึ้นทำให้ระบบนิเวศน์เปลี่ยนไปถนนสุขุมวิทเป็นเหมือนเขื่อนกั้นทำให้พื้นที่ตำบลบางปลาเปลี่ยน เป็นพื้นที่น้ำจืด ป่าชายเลนหมดสภาพไป ประชาชนปรับพื้นที่มาทำนาและปลูกพืชผล หลังจากนั้นได้มีการทำบ่อเลี้ยงปลาและ ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ประชาชนจึงเปลี่ยนนาข้าวเป็นบ่อและประกอบอาชีพเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อมีการปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดิน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น กำนันตำบลบางปลา คนแรก ชื่อขุนสมานพลีราษฎร์ ชื่อ เดิมนายหยวย ฟักทอง การเปลี่ยนการเรียกชื่อจากบางลาวเป็นบางปลา เนื่องจากมีการประกวด แกง ที่อำเภอบางพลี สมัยนายอำเภอเชื่อม (นายอำเภอคนนี้มีแขนเดียว) ชาวบางลาวได้แกงปลาหลายชนิดรวมทั้งแกงปลาหมอ ไปร่วมประกวด แกงที่ทำไปประกวดมีรสชาติอร่อยมากเป็นที่กล่าวขานกัน จึงมีการเปลี่ยนชื่อเรียก ตำบลบางลาว เป็นตำบลบางปลา ตั้งแต่นั้นมา
ชุมชนบางปลาเป็นชุมชนที่มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น ยึดถือประเพณีวัฒนธรรมโบราณ สืบทอดกันมาจนปัจจุบัน ได้แก่ประเพณี งานประจำปีศาลเจ้าพ่อพระรามพระลักษมณ์ ศาลเจ้าพ่อเสือ พิธีสรงน้ำเจว็ด ซึ่งเป็นตัวแทนองค์เจ้าพ่อซึ่งประชาชน เคารพนับถือมากกว่า 30 องค์ ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นชุมชนที่มีนาฏศิลป์พื้นบ้าน มีคณะละครชาตรีและเครื่อง ดนตรีไทย (ปี่พาทย์) มากกว่า 10 คณะ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกว่าชุมชนบางปลาเป็นชุมชน เก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์ของตนเองที่แท้จริง มาแต่ดั้งเดิม
ตราสัญลักษณ์ อบต.บางปลา
- เส้นขอบวงรูปวงกลมของตราสัญลักษณ์ 2 วงคู่กัน มีความหมายถึงความกลมเกลียวรักใคร่ สามัคคีของชาวบ้านบางปลา และองค์การบริหารส่วนตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
- ภาพภายในวงกลม สายน้ำด้านล่าง มีความหมายถึงความร่มเย็น เนื่องจากพื้นที่ของ อบต.บางปลา มีลำคลองอยู่มากมายแตก ต่างจากท้องถิ่นอื่น ๆ
- รูปปลาแหวกว่ายในสายน้ำ หมายถึง เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีปลาอยู่อย่างชุกชุม แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนอาศัยประกอบอาชีพทำให้มีเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดี
- ภาพพรายน้ำบนผิวน้ำจำนวน 15 วง หมายถึง หมู่บ้านในตำบลบางปลาจำนวน 15 หมู่บ้าน ที่ต้องมีความสะอาด โปร่งใส ดุจพรายน้ำ คุณสมบัติของพรายน้ำ แม้จะเกิดขึ้นจากแหล่งน้ำใดก็ตามจะต้องมีรูปสัญลักษณ์ที่โปร่งใสเสมอ
- ภาพปลาหมออยู่ตรงกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อบางปลา คุณสมบัติของปลาหมอ เป็นปลาที่มีความทรหดอดทนดัง คำพัง เพยที่กล่าวว่าชาติปลาหมอต้องสู้กลิ้งเกลือกจนเหงือกแห้ง คือมีการต่อสู้ต่ออุปสรรคอย่างไม่ท้อถอย เป็นปลาที่มีอำนาจในตัว แม้ช้างยังเกรงกลัวปลาหมอ
- ปลาหมอในตราสัญลักษณ์เป็นรูปปลาที่ทยานขึ้นสู่ที่สูงสุดคือท้องฟ้าซึ่งสูงเทียมเมฆ หมายถึง ความพยายามของชาวบาง ปลาที่ จะสรรค์สร้างบางของเราให้สูงส่งเจริญรุดหน้าอย่างไม่ย่อท้อ ด้วยพลังกาย พลังใจ พลังสติปัญญา ด้วยความอดทน และพยายาม เยี่ยงปลาหมอ